ประวัติสำนักวิชาการและงานทะเบียน

418,043 Views

ประวัติความเป็นมา

สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน เดิมชื่อ “ฝ่ายทะเบียนประมวลผล” ซึ่งก่อตั้งพร้อมวิทยาลัยครูเลย ในปี พ.ศ. 2516 และเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในวันที่ 10 มิถุนายน 2519 โดยรับนักศึกษารุ่นแรกในระดับประกาศนียบัตร (ป.กศ.) ในปีการศึกษา 2521 ได้รับนักศึกษาระดับ ป.กศ.สูง และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 เริ่มรับนักศึกษาในโครงการฝึกอบรมครู และบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อ.ค.ป.) รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 โดยเปิดศูนย์ฝึกอบรมอยู่ในเขตจังหวัดเลยและจังหวัดขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2538 พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามวิทยาลัยครูทั่วประเทศเป็นสถาบันราชภัฏ ฝ่ายทะเบียนและประมวลผลจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักส่งเสริมวิชาการ ตามโครงสร้างในพระราชบัญญัติ สถาบันราชภัฏเลย พ.ศ. 2540 โดยมีโครงสร้างงานหลัก 4 ฝ่ายงาน คือ งานทะเบียนและประมวลผล งานหลักสูตรและแผนการเรียน งานเอกสารการศึกษาและศูนย์หนังสือ และงานเลขานุการ โดยให้บริการทางการศึกษาเป็นงานหลักและโครงการต่าง ๆ รวม 5 ประเภท คือ การเรียนการสอนภาคปกติ โครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) โครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักธุรกิจ และโครงการจัดการศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ชุมชน (กศ.อช.) โครงการจัดการศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ท้องถิ่น (กศ.อท.) และโครงการพัฒนาครูประจำการให้ได้รับวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษา (พ.ค.)

เมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้และส่งผลให้สถาบัน อุดมศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล สถาบันราชภัฏเลยจึงเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ปี พ.ศ. 2547 สำนักส่งเสริมวิชาการจึงใช้ชื่อเป็น “สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน” ตามกฎกระทรวงการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548 และมีโครงสร้างงานหลัก 4 ฝ่ายงาน คือ งานทะเบียนและประมวลผล งานหลักสูตรและแผนการเรียน งานบัณฑิตศึกษา และงานบริหารงานทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2552 ได้เปลี่ยนชื่อโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) เป็น “โครงการจัดการศึกษาภาคพิเศษ (กศ.พ.)” ในปีเดียวกันมหาวิทยาลัยได้มีมติให้บัณฑิตวิทยาลัยมาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โดยเรียกว่า “งานบัณฑิตศึกษา”

สำหรับประวัติความเป็นมาของงานบัณฑิตศึกษามีดังนี้

ในปี พ.ศ. 2538 สถาบันราชภัฏเลย เริ่มพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทโดยมุ่งหวังพัฒนาท้องถิ่น หลักสูตรแรก คือ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา และได้รับการอนุมัติจากสภาสถาบันราชภัฏให้เป็นหลักสูตรกลางที่สถาบันราชภัฏอื่นสามารถนำไปใช้เปิดสอนและสถาบันราชภัฏได้เปิดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2541 โดยให้สำนักงานบัณฑิตศึกษาทำหน้าที่จัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา หลังจากนั้นจึงพัฒนาหลักสูตรอื่น ๆ และเปิดการเรียนการสอนอีกหลายสาขา ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา เปิดสอนรุ่นแรกภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2542 หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา เปิดสอนรุ่นแรกภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2543 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโครงการและการประเมินโครงการ เปิดสอนรุ่นแรกภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544 และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา เปิดสอนรุ่นแรกภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2546

เมื่อสถาบันราชภัฏเลยได้ยกระดับฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย” ในปี พ.ศ. 2547 จึงได้เปลี่ยนฐานะสำนักบัณฑิตศึกษา เป็น “บัณฑิตวิทยาลัย” มีฐานะเทียบเท่าคณะ ทำหน้าที่จัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) การจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามีการพัฒนา ขยายสาขาและระดับการศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2547 ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรรุ่นแรก ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา และในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา และหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลการศึกษา และในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548 เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการและการประเมินโครงการ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ในช่วงเวลาเดียวกันได้เปิดสอนระดับปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ต่อมาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 เปิดสอนหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา และหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน